ฮอร์โมนแต่ละชนิด สำคัญกับร่างกายอย่างไร?

บทความสุขภาพ

13 มิ.ย. 2565
ครั้ง
ฮอร์โมนแต่ละชนิด สำคัญกับร่างกายอย่างไร?
      ในร่างกายของคนเรา ประกอบด้วยสารเคมีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ฮอร์โมน” ซึ่งเป็นสิ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อสื่อสารและทำหน้าที่ร่วมกันกับอวัยวะต่าง ๆ เพื่อให้ร่างกายของคนเราสามารถทำงานได้อย่างปกติ เราจึงควรทำความรู้จักเพื่อให้รู้ทันหากเกิดความผิดปกติ
  • เอ็นโดรฟิน : เป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากใต้สมองที่รู้จักกันในชื่อ “สารสุข” เปรียบเสมือนมอร์ฟีนธรรมชาติที่ร่างกายหลั่งขึ้นมาก็ต่อเมื่อมนุษย์มีความสุข ความพึงพอใจ ผ่อนคลาย และหลั่งเพื่อกระตุ้นความรู้สึกในแง่บวก เมื่ออยู่ในภาวะเครียดฮอร์โมนชนิดนี้ก็จะลดลง
  • โดพามีน : เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความพึงพอใจ รักใคร่ และยินดี เป็นสารที่หลั่งออกจากสมองกับเซลล์ประสาทในร่างกาย ถ้าโดพามีนในร่างกายต่ำเกินไปจะทำให้มีความรู้สึกหดหู่และซึมเศร้า ซึ่งนับว่าเป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง ยาที่รักษาโรคทางจิตเวชในปัจจุบันจึงมีการพัฒนาเอาโดพามีนมาใช้ในการรักษา
  • เซโรโทนิน : เป็นสารต้านความเครียดที่หลั่งจากสมองและหลั่งจากทางเดินอาหารที่มีผลกับการทำงานของกล้ามเนื้อ อารมณ์ พฤติกรรม และการนอนหลับ ถ้าระดับฮอร์โมนต่ำเกินไปจะทำให้เราหงุดหงิด นอนไม่ค่อยหลับ ไม่มีสมาธิ มีภาวะปวดศีรษะ เป็นไมเกรน หรืออาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้
  • คอร์ติซอล : เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมหมวกไต ถือเป็นสเตียรอยด์ชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้เอง คอร์ติซอลเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียด เมื่อมีภาวะเครียด มีเหตุการณ์คับขัน มีเรื่องวิตกกังวล หรือมีความป่วยไข้ของร่างกาย ฮอร์โมนตัวนี้จะถูกกระตุ้นให้หลั่งมากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมต่อการฟื้นฟูร่างกาย
  • อะดรีนาลีน : เป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากต่อมหมวกไต เป็นสารแห่งความโกรธและเกี่ยวเนื่องกับการป้องกันตัว ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนนี้เพื่อให้มีภาวะเตรียมพร้อมให้ร่างกายเข้าสู่การตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน การใช้พลังงาน และทำในสิ่งที่เมื่อก่อนไม่สามารถทำได้
  • เทสโทสเตอโรน : ฮอร์โมนเพศชายที่หลั่งมาจากอัณฑะ ต้องใช้คอเลสเตอรอลในการสังเคราะห์ ฉะนั้นร่างกายจึงต้องมีไขมันเพื่อสังเคราะห์เป็นฮอร์โมนเพศได้ ฮอร์โมนเพศชายจะทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เด็กจนโต ให้มีลักษณะเป็นผู้ชาย มีกล้ามเนื้อใหญ่ขึ้น มีหนวด เครา ขน เสียงแตก และมีการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะเพศ
  • เอสโตรเจน : ฮอร์โมนเพศหญิง ผลิตจากรังไข่ และทำให้ลักษณะร่างกายของผู้หญิงมีการเติบโต มีความเป็นผู้หญิงมากขึ้น เช่น มีเต้านม สะโพกผาย มีผิวดีขึ้น เกี่ยวเนื่องกับการมีประจำเดือน การผลิตไข่และการตกไข่
  • โปรเจสเตอโรน : เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่จะสูงขึ้นในช่วงที่จะตั้งครรภ์หรือมีรอบเดือน เตรียมพร้อมที่จะให้ไข่ที่ได้รับจากสเปิร์มแล้วมาฝังตัว

ติดตาม โซเชียลเน็ตเวิร์ก ของเรา

iConsFacebook.png iConsInstagram.png iConsLine.png iConsTwitter.png iConsYouTube.png