“ปริทันต์อักเสบ” โรคช่องปากที่ต้องระวัง!
บทความสุขภาพ
“ปริทันต์อักเสบ” โรคช่องปากที่ต้องระวัง!
โรคปริทันต์ คือโรคที่อวัยวะรอบ ๆ ฟัน ได้แก่ เหงือก เอ็นยึดฟัน กระดูกเบ้าฟัน ผิวรากฟัน เกิดการติดเชื้อและอักเสบ สาเหตุของโรคปริทันต์ คือการสะสมของคราบจุลินทรีย์ มาจากเชื้อโรคที่ปะปนในน้ำลายจะเป็นเมือกใส และต่อมากลายเป็นคราบสีขาวอ่อนนุ่ม อาการระยะแรก ๆ มักยังไม่มีอาการบ่งชี้ จนเมื่อโรคดำเนินไปสักระยะจึงเริ่มเห็นว่ามีเลือดออกตามไรฟัน เหงือกบวม มีกลิ่นปาก เสียวฟัน หากรุนแรง กระดูกรองรับฟันจะถูกทำลายลงทำให้เหงือกร่นได้
อาการของ “โรคปริทันต์” ที่ต้องระวัง!
- มีเลือดออกขณะแปรงฟัน หรือตอนใช้ไหมขัดฟัน
- เหงือกแดง และบวมหรือนุ่ม
- ฟันดูยาวขึ้น เนื่องจากเหงือกร่น
- เหงือกไม่ติดอยู่กับฟัน เหมือนมีร่อง
- ฟันมีการขยับเขยื้อนเวลาเคี้ยว
- มีหนองไหลออกมาจากบริเวณร่องเหงือก
- มีกลิ่นปาก
การป้องกันโรคปริทันต์
- แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง เน้นแปรงบริเวณฟันและรอยต่อระหว่างฟันและเหงือก โดยควรใช้แปรงสีฟันหัวเล็กที่มีขนแปรงนุ่ม และใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เป็นส่วนประกอบ นอกจากนี้ ควรเปลี่ยนแปรงสีฟันทุก ๆ 3-4 เดือน เพราะแปรงสีฟันเก่าจะมีประสิทธิภาพในการทำความสะอาดฟันลดลงและอาจทำให้เหงือกเกิดการบาดเจ็บได้
- ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาอย่างเคร่งครัด หากต้องใช้เครื่องมือทำความสะอาดฟันอย่างไหมขัดฟัน แปรงสำหรับซอกฟัน หรือเครื่องมืออื่น ๆ
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรับประทานอาหาร เพราะช่วยขจัดเศษอาหารตามซอกฟันและช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดคราบพลัคที่ฟันได้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง
- เข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากทุก 6 เดือน
- งดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่อาจทำให้ช่องปากเกิดการระคายเคืองและทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ในช่องปากได้
อาการที่เกิดจากโรคเหงือกอาจสังเกตได้ยาก เพราะบางครั้งคนไข้อาจไม่มีอาการปวดหรือระคายเคืองบริเวณเหงือก ดังนั้น การเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจช่องปากเป็นประจำจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจะช่วยให้ทันตแพทย์ตรวจพบความผิดปกติของเหงือกและทำการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ทั้งยังช่วยป้องกันการสูญเสียฟันอีกด้วย
ติดตาม โซเชียลเน็ตเวิร์ก ของเรา