RSV ไวรัสที่เด็กต้องระวัง! ช่วงปลายฝนต้นหนาว
บทความสุขภาพ
RSV ไวรัสที่เด็กต้องระวัง! ช่วงปลายฝนต้นหนาว
RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจได้ทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ทำให้ร่างกายผลิตเสมหะออกมาจำนวนมาก มักก่อให้เกิดอาการรุนแรงในเด็กเล็ก โดยเฉพาะช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้ ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการของลูกหลานอย่างใกล้ชิด เพราะหากพลาดไปสักนิดอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้
อาการจากการติดเชื้อ RSV
- มีไข้ ไอ จาม และน้ำมูก
- รับประทานอาหารได้น้อยลง
- หยุดหายใจเป็นพัก ๆ
- หายใจหอบเหนื่อย อกบุ๋ม ได้ยินเสียงปอดผิดปกติ เสียงหายใจดังวี้ด
- อาจจะพบอาการร้องกวน ซึมลง ในเด็กทารก
การติดต่อของเชื้อไวรัส RSVติดต่อได้ง่ายมากจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อไวรัส RSV เข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา หู จมูก ปาก หรือสัมผัสเชื้อโดยตรงจากการจับมือ ไวรัส RSV จะมีชีวิตยู่ภายนอกร่างกายได้หลายชั่วโมง โดยอาศัยอยู่ตามวัตถุต่าง ๆ เด็กเล็กสามารถรับเชื้อไวรัสได้ตั้งแต่แรกเกิด โดยเชื้อมีระยะฟักตัวประมาณ 2-6 วัน หลังจากที่ได้รับเชื้อ
การป้องกันการติดต่อเชื้อไวรัส RSV
- ล้างมือด้วยน้ำสบู่ทุกครั้งก่อนสัมผัสและก่อนอุ้มเด็ก
- หากลูกติดเชื้อ RSV รักษาให้หายดีก่อนไปโรงเรียนป้องกันการแพร่เชื้อ
- หมั่นทำความสะอาดของใช้ ของเล่น แยกแก้วน้ำส่วนตัว
- หลีกเลี่ยงการจูบและหอมเด็ก เพราะอาจเป็นการแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว
- หลีกเลี่ยงสัมผัสเด็กที่สงสัยว่าเป็นหวัด
- ใส่หน้ากากอนามัย
- ไม่นำบุตรหลานไปในที่ชุมชนคนเยอะ
การรักษาเชื้อไวรัส RSV
- ปัจจุบัน ยังไม่มียาปฏิชีวนะหรือยาต้านไวรัสที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัส RSV
- ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง คืออาการเหมือนเป็นหวัด ผู้ปกครองสามารถให้การดูแลที่บ้านได้ ได้แก่ ให้ยาลดไข้พาราเซตามอลและเช็ดตัวเพื่อลดไข้ ให้ดื่มน้ำและกินอาหารให้เพียงพอ สังเกตอาการไข้ ลักษณะหายใจ แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าเด็กมีอาการรุนแรงหรือไม่ควรพามาพบแพทย์
- ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรง แพทย์จะพิจารณารับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ให้สารน้ำทางหลอดเลือด
- หากมีอาการหอบเหนื่อย เขียว แพทย์จะพิจารณาให้ออกซิเจนความเข้มข้นสูง (high flow oxygen nasal cannula therapy) หรือหากมีการหายใจล้มเหลวจะต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ
ภาวะแทรกซ้อนของเชื้อไวรัส RSV
- หูชั้นกลางอักเสบ
- หลอดลมฝอยอักเสบ
- ปอดอักเสบ หรือปอดบวม
- หายใจล้มเหลว
- เสียชีวิต
เนื่องจากการติดเชื้อไวรัส RSV ระยะเริ่มต้นนั้นใช้เวลาในการฝักตัวประมาณ 3-6 วัน หลังจากได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา จึงทำให้ผู้ปกครองรู้ตัวช้า ดังนั้นจึงต้องคอยสังเกตอาการของลูกหลานอย่างใกล้ชิด ถึงแม้ปัจจุบันเปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตของเด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV โดยตรงนั้นน้อยมาก เพราะไวรัส RSV ไม่ใช่เชื้อโรคที่ร้ายแรง แต่สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่ มักมาจากการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กมาก ๆ หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว
ติดตาม โซเชียลเน็ตเวิร์ก ของเรา