อัลตร้าซาวด์ Vs แมมโมแกรม ตรวจเต้านมได้ต่างกันอย่างไร?
บทความสุขภาพ
อัลตร้าซาวด์ Vs แมมโมแกรม ตรวจเต้านมได้ต่างกันอย่างไร?
เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับ เต้านม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเจ็บเต้านม มีก้อนที่เต้านม มีแผลที่หัวนม หรือ มีน้ำไหลจากหัวนม ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยความผิดปกติในเต้านม แต่เมื่อมีความเสี่ยงที่จะมีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น เช่น อายุมากขึ้น แพทย์ก็จะแนะนำให้ทำการตรวจเต้านม เพราะหากสามารถพบความผิดปกติของเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก การรักษาต่าง ๆ ก็จะไม่ยุ่งยาก และได้ผลดี วันนี้เรามีข้อแตกต่างของการตรวจเต้านมด้วยอัลตร้าซาวด์และแมมโมแกรม
การตรวจ อัลตร้าซาวด์
เป็นการตรวจโดยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปในเนื้อเต้านม ซึ่งจะตรวจจับความแตกต่างของเนื้อเยื่อได้ คล้ายกับการตรวจด้วยเรดาร์ ทำให้สามารถแยกเนื้อเยื่อเต้านมปกติกับก้อนในเต้านมได้ สามารถตรวจได้ว่าในเนื้อเต้านมนั้น มีองค์ประกอบเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ ในกรณีที่เป็นน้ำ ก็ค่อนข้างจะสบายใจเพราะไม่เหมือนมะเร็ง แต่หากเป็นก้อนเนื้ออัลตราซาวด์ จะช่วยบอกว่าก้อนเนื้อนั้นมีขอบเขตที่ดูเรียบร้อยหรือดูค่อนไปทางเป็นเนื้อร้าย
การตรวจ แมมโมแกรม
เป็นการตรวจทางรังสีชนิดหนึ่งคล้ายกับการเอกซเรย์ แต่เครื่องตรวจแมมโมแกรมจะเป็นเครื่องเฉพาะ ที่ใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป แต่มีความสามารถในการตรวจที่ละเอียดกว่ามาก สามารถเห็นจุดหินปูนในเต้านม ซึ่งในบางครั้งมะเร็งเต้านมอาจมีขนาดเล็กมาก คลำก็ไม่พบ ตรวจอัลตราซาวด์ก็ไม่พบ สามารถตรวจพบได้เฉพาะในการตรวจแมมโมแกรมเท่านั้น
แพทย์ผู้รักษาจะใช้อาการและสิ่งที่ตรวจพบจากการตรวจร่างกาย เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการวางแผนสำหรับ การเลือกวิธีตรวจ แต่ในภาวะที่ไม่มีโรคหรือความผิดปกติใด แนะนำว่าสุภาพสตรีที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ควรตรวจแมมโมแกรม ปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจเช็คหามะเร็งเต้านม
ติดตาม โซเชียลเน็ตเวิร์ก ของเรา