ไขข้อสงสัย? แปรงฟันสะอาดแล้ว แต่ทำไมยังมี "กลิ่นปาก"

บทความสุขภาพ

08 เม.ย. 2567
ครั้ง
ไขข้อสงสัย? แปรงฟันสะอาดแล้ว แต่ทำไมยังมี "กลิ่นปาก"

      เมื่อคุณมีกลิ่นปาก และลมหายใจของคุณมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ ปัญหาดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าอาย และอาจทำให้คุณรู้สึกไม่สบายใจเมื่อต้องเข้าสังคมหรือการใกล้ชิดกับผู้อื่น  กลิ่นเหล่านี้เกิดจากแบคทีเรียที่ย่อยสลายเศษอาหารที่ตกค้างอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ในช่องปาก ทำให้เกิดการเน่าเสียของเศษอาหาร ส่งผลทำให้เกิดกลิ่นดังกล่าวขึ้น ทั้งๆ ที่มั่นใจในการดูแลทำความสะอาดสุขภาพช่องปากและแปรงฟันอย่างดีแล้ว แต่ทำไมเรายังมีกลิ่นปาก? วันนี้เรามีปัจจัยที่ทำให้เกิด “กลิ่นปาก” มาฝากทุกคน

  • แผลในช่องปาก เช่น เนื้องอก แผลร้อนใน แผลที่เกิดขึ้นภายหลังจากการถอนฟัน หรือแผลที่เกิดจากการผ่าตัดในช่องปาก
  • ฟันผุ เกิดจากเศษอาหารตกค้างสะสมอยู่ในรูฟันผุ ฟันที่ผุทะลุโพรงประสาทฟัน และมีหนองเกิดขึ้นที่ปลายรากฟัน
  • โรคปริทันต์ หรือเหงือกอักเสบ เกิดจากมีคราบจุลินทรีย์ และหินปูนสะสมเป็นจำนวนมาก
  • ผู้ที่ใส่ฟันปลอม หรือเครื่องมือต่าง ๆ ในช่องปาก เช่น ใส่เครื่องมือจัดฟัน หรือใส่เครื่องมือกันฟันล้ม แล้วรักษาความสะอาดไม่ดีพอ
  • น้ำลาย โดยปกติน้ำลายจะช่วยชะล้างสิ่งสกปรกออก ถ้าในช่องปากมีน้ำลายหลั่งออกมามาก ช่องปากก็จะสะอาดมากกว่าคนที่น้ำลายที่หลั่งออกมาน้อย และน้ำลายนี้ จะช่วยลดการบูดเน่าของอาหารที่ทำให้เกิดกลิ่นได้
  • ลิ้น โดยเฉพาะบริเวณโคนลิ้นด้านในสุด เนื่องจากบริเวณนี้จะมีน้ำเมือกในช่องจมูกไหลลงสู่คอ โดยอาการดังกล่าวจะไม่ทำให้เกิดกลิ่นปากในระยะแรก ๆ แต่เมื่อทิ้งไว้ 2 ถึง 3 วัน แบคทีเรียในช่องปากจะย่อยน้ำเมือกทำให้เกิดกลิ่นได้เช่นกัน
  • การสูบบุหรี่ เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้สูบเป็นโรคปริทันต์รุนแรงมากขึ้น และกลิ่นของบุหรี่ที่ตกค้างอยู่ในช่องปากผสมกับกลิ่นอื่น ๆ ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นเฉพาะตัวขึ้นได้
  • การรับประทานอาหาร เช่น หัวหอม หัวกระเทียม เครื่องเทศ สะตอ และแอลกอฮอล์ จะทำให้มีกลิ่นปากได้ แต่โดยธรรมชาติอาหารพวกนี้เมื่อถูกย่อยดูดซึม และขับถ่ายออกแล้วกลิ่นก็จะหายไปได้เอง

      หากมั่นใจว่าที่แปรงฟันสะอาดแล้ว แต่ทำไมลมหายใจยังมีกลิ่นอยู่นั้น บางครั้งอาจเกิดจากปัจจัยภายในอย่างแผลในช่องปาก หรือภูมิแพ้ต่าง ๆ ไม่ก็ปัจจัยภายนอกอย่างอาหารการกินของเราก็ได้เช่นกัน จึงจะต้องหาสาเหตุให้ได้ว่าเกิดจากอะไร เพื่อการแก้ไขที่ถูกต้องและตรงจุด รวมถึงควรที่จะไปพบทันตแพทย์ เพื่อรับการตรวจสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ

ะดพเ.png


ติดตาม โซเชียลเน็ตเวิร์ก ของเรา

iConsFacebook.png iConsInstagram.png iConsLine.png iConsTwitter.png iConsYouTube.png iConsTikTok.png